ชีวิตเราจะเป็นอย่างไรเมื่อไวรัสโคโรนากลายเป็นโรคประจำถิ่น

ข่าวล่าสุด

ในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ปีที่ 3 ที่ต้องเผชิญการระบาดใหญ่ของโควิด-19 หลายประเทศได้เริ่มพิจารณาจะจัดให้โรคติดต่อชนิดนี้เป็น “โรคประจำถิ่น” (endemic)

ในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า กำลังพิจารณาแผนรับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือน ม.ค. ปีนี้ให้เข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” เนื่องจากเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนมีระดับความรุนแรงน้อย แม้จะแพร่กระจายได้รวดเร็ว แต่อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่ทางการสหราชอาณาจักรก็มีการพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนผ่านในการรับมือกับโควิดจาก “โรคระบาด” ให้เป็น “โรคประจำถิ่น” เช่นกัน

โรคประจำถิ่นหมายความว่าอย่างไร แล้วมันจะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตประจำวันของเรา

เมื่อเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว นางนิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์ ระบุว่า ต้องการจะขจัดโควิดให้หมดไปจากสกอตแลนด์ แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า นี่จะเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก

ศาสตราจารย์มาร์ก วูลเฮาส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อประจำมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ในสกอตแลนด์ ระบุว่า ไวรัสก่อโรคโควิด-19 จะคงอยู่กับเราต่อไป และที่ผ่านมารัฐบาลหลายประเทศต้องเสียเวลาไปมากมายกว่าที่จะตระหนักได้ว่าจะไม่สามารถขจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้ให้หมดสิ้นไปได้

ศาสตราจารย์วูลเฮาส์ กล่าวกับบีบีซี สกอตแลนด์ ว่า บรรดานักระบาดวิทยาทราบเรื่องนี้อย่างชัดเจนมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ปีที่แล้ว “เรารู้มาตั้งแต่ตอนนั้นว่าไวรัสชนิดนี้จะต้องกลายเป็นโรคประจำถิ่น”

“เราเข้าสู่การล็อกดาวน์ครั้งแรกเมื่อ ม.ค. 2020 โดยที่คนส่วนใหญ่มีความเชื่อผิด ๆ ว่าหากเราตั้งใจต่อสู้กับมันเป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์ เชื้อไวรัสนี้ก็จะหมดสิ้นไป”

“มันไม่มีโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นได้ พวกเราจะต้องอยู่ร่วมกับไวรัสชนิดนี้ต่อไปในอนาคต”

ผู้เชี่ยวชาญชี้ โควิดจะ “คงอยู่ตลอดไป” แต่จะกลายเป็นโรคคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป
แม้นี่จะฟังดูสิ้นหวัง แต่นักระบาดวิทยาหลายคนคาดว่า “ภาระโรค” (disease burden) ซึ่งหมายถึงความสูญเสียทางสุขภาพทั้งการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตนั้นจะลดลงทุกขณะ โดยที่จะมีคนเสียชีวิต หรือเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาโควิดน้อยลงเรื่อย ๆ

ศาสตราจารย์พอล ฮันเตอร์ อาจารย์ด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ในอังกฤษ ระบุว่า ในขณะที่เชื้อไวรัสชนิดนี้จะ “คงอยู่ตลอดไป” แต่โรคที่สร้างความเจ็บป่วยจะไม่อยู่ตลอดไป

เขาอธิบายเรื่องนี้ว่า “คุณอาจได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้ทุก 2 – 3 ปี ตลอดไป แต่ความเจ็บป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อจะน้อยลงกว่าการติดเชื้อครั้งก่อนหน้าเสมอ”

มุมมองนี้สอดคล้องกับ ศาสตราจารย์ เดม ซาราห์ กิลเบิร์ต หัวหน้าทีมพัฒนาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ที่กล่าวในการสัมมนาของราชสมาคมการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักรว่า โควิด-19 จะกลายเป็นโรคคล้ายกับไข้หวัดทั่วไป

คำนิยามของ “โรคประจำถิ่น”
โรคที่จะถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นได้นั้นจะต้องเป็นโรคที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถคาดการณ์การเกิดขึ้นได้ในเขตภูมิศาสตร์หนึ่ง

ศาสตราจารย์ฮันเตอร์ระบุว่า โรคประจำถิ่นส่วนใหญ่จะแตะจุดที่เรียกว่า “จุดสมดุลที่มีโรคประจำถิ่น” (endemic equilibrium) ซึ่งหมายความว่า เมื่อดูระดับยอดผู้ติดเชื้อ ก็จะเห็นเป็นเส้นกราฟแนวราบคงที่มากกว่าเส้นกราฟที่พุ่งสูงมาก และแนวโน้มนี้ยังสะท้อนให้เห็นในอัตราการเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตด้วย

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวอาจมีขึ้นและลงได้ โดยเฉพาะเมื่อโรคเกิดขึ้นตามฤดูกาล โดยจะพบยอดผู้ติดเชื้อมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว

ศาสตราจารย์ฮันเตอร์ยกตัวอย่างโรคประจำถิ่นซึ่งมีระดับการเกิดโรค และการเสียชีวิตที่สังคมยอมรับไม่ได้ เช่น มาลาเรีย

“มาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งคร่าชีวิตเด็กหลายแสนคนในแต่ละปี”

ศาสตราจารย์ฮันเตอร์อธิบายต่อว่า โรคประจำถิ่นไม่ได้หมายความว่าจะมีความรุนแรงน้อยกว่าเสมอไป แต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นประจำ และมีแนวโน้มจะคงอยู่เช่นนั้นต่อไป

แม้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) จะกำหนดให้การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นการระบาดใหญ่ในเดือน มี.ค. 2020 แต่ปัจจุบัน WHO ก็ไม่ได้ “ประกาศ” ให้มันเป็นโรคระบาดใหญ่อีกต่อไปแล้ว และไม่น่าจะประกาศให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นในตอนนี้

แต่ WHO ได้ประกาศให้โรคนี้เป็น “ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (public health emergency of international concern หรือ PHEIC) แทน

เมื่อเจ้าหน้าที่ WHO ประเมินแล้วว่าบริการสาธารณสุขทั่วโลกไม่อยู่ในความเสี่ยงจากยอดผู้ติดโควิดในระดับสูงอีกต่อไปแล้ว ก็จะมีการยกเลิกประกาศ PHEIC แต่ศาสตราจารย์ฮันเตอร์คิดว่ายังไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้

เขาชี้ว่า WHO จะต้องแน่ใจเสียก่อนว่า บริการด้านสาธารณสุขทั่วโลกจะรอดพ้นจากความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ก่อนที่จะยกเลิกการประกาศ PHEIC

ศาสตราจารย์ฮันเตอร์เชื่อว่า การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตา ได้แตะ “จุดสมดุลที่มีโรคประจำถิ่น” เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา และมีสัญญาณการเกิดขึ้นในสกอตแลนด์ เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับคงที่อยู่นานประมาณ 1 เดือน

แต่แนวโน้มดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปจากการอุบัติของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน เมื่อปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงคริสต์มาสและปีใหม่ และมีโอกาสที่เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีก

การใช้ชีวิตกับโรคประจำถิ่นจะเป็นอย่างไร
ตอนนี้เราใช้ชีวิตร่วมกับโควิดในแบบที่แตกต่างไปจากเมื่อ 1 ปีก่อนมาก

ตอนที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นในเดือน ธ.ค. 2020 เนื่องจากเชื้อสายพันธุ์อัลฟา ก็ทำให้ทางการสหราชอาณาจักรต้องยกเลิกแผนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในช่วงคริสต์มาส และต้องกลับเข้าสู่การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเป็นเวลาสั้น ๆ หลังปีใหม่

แม้ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อจะสูงกว่าในตอนนั้นมาก แต่ประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันโรคที่ได้จากการฉีดวัคซีน จึงทำให้มีการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วมาก

ศาสตราจารย์วูลเฮาส์ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จะต้องปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อหาทางใช้ชีวิตร่วมกับโควิดโดยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนและเสียหายแบบที่เกิดจากการล็อกดาวน์ แต่เขาคิดว่าจะยังมีการคงมาตรการควบคุมโรคบางอย่างเอาไว้

ศาสตราจารย์ฮันเตอร์ก็เชื่อว่า เราจะยังมีมาตรการควบคุมโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อไป แต่เขาชี้ว่า มาตรการคุมเข้มทางสังคมจะส่งผลน้อยกว่า เมื่อโรคแตะ “จุดสมดุลที่มีโรคประจำถิ่น” เพราะเมื่อถึงจุดนั้น ปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อคือ ผู้คนจะสูญเสียภูมิคุ้มกันโรคไปรวดเร็วเพียงใด

เขาชี้ว่า “ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ และแม้แต่ความร้ายแรงของโรคจะไม่คงอยู่ตลอดไป”

“มันเป็นไปได้มากว่าถ้าคุณได้รับเชื้อทุก 6 เดือน คุณจะมีอาการติดเชื้อไม่รุนแรง แต่หากคุณได้รับเชื้อทุก 5 ปี คุณก็จะลงเอยด้วยการป่วยหนัก”

อ้างอิง
https://www.khaosod.co.th