ttb หนุนธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ช่วยบริหารเงิน 11 สกุลเงินในบัญชีเดียว

ข่าวล่าสุด

ทีเอ็มบีธนชาต ส่งบริการบัญชี “ttb multi-currency account” หนุนธุรกิจนำเข้า-ส่งออกเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขจัดปัญหาความเสี่ยงค่าเงินผันผวน ช่วยบริหารอัตราแลกเปลี่ยนได้ถึง 11 สกุลเงินในบัญชีเดียวผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง end-to-end เต็มรูปแบบ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจตลาดเงินและบริการธุรกรรมทางการเงิน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า ธุรกิจนำเข้าและส่งออก ถือว่าเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากตัวเลขสัดส่วนภาคธุรกิจนำเข้าและส่งออกต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีอัตราการเติบโตถึง 127% ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และยังเป็นตัวที่หนุนให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัว

 

เช่น ในปี 2540 ที่มีวิกฤตต้มยำกุ้ง จีดีพีหดตัว -7% แต่การส่งออกขยายตัวได้ 12% ส่งผลให้จีดีพีกลับมาโตได้ 4% หรือในช่วงที่เกิดโควิด-19 จีดีพีหดตัว -6% แต่การส่งออกและนำเข้าเติบโต 23% ทำให้จีดีพีกลับมาขยายตัวได้ 1% ถือได้ว่าธุรกิจนำเข้าและส่งออก เป็นธุรกิจที่ช่วยกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

นอกจากนี้ ธุรกิจนำเข้าและส่งออกยังมีผลต่ออัตราการจ้างงาน โดยมีจำนวนบริษัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 4 หมื่นบริษัทในปี 2544 เพิ่มเป็น 1 แสนบริษัทในปี 2564 และมีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 5.6 ล้านคน เพิ่มเป็น 7.3 ล้านคน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าและส่งออกจะประสบปัญหากับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และมีการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน (Natural Hegde) ลดลงเรื่อยๆ โดยปัจจุบันจะพบว่าอัตราความผันผวนของค่าเงินเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2561 เพิ่มเป็น 6% ในปี 2564 ส่งผลต่ออัตรากำไรที่จะปรับลดลงตามความผันผวนของค่าเงิน และหากดูสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงจะพบว่าในปี 2544 มีสัดส่วนการป้องกันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30% ปัจจุบันปี 2564 สัดส่วนเหลือเพียง 20%

ตลอดจนการซื้อขายด้วยสกุลเงินดอลลาร์มีสัดส่วนลดลงจาก 84% มาอยู่ที่ 77% และที่เหลือ 23% ซื้อขายด้วยสกุลเงินอื่น ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การซื้อขายสกุลเงินท้องถิ่นจะค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากข้อจำกัด 1บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) รองรับได้ 1 สกุลเงิน ดังนั้น หากผู้ประกอบการทำธุรกิจโดยมีคู่ค้าหลายประเทศ บนหลายสกุลเงิน จำเป็นต้องเปิดบัญชี FCD หลายบัญชี

ดังนั้น เพื่อลดปัญหาอุปสรรคและความเสี่ยงให้ธุรกิจนำเข้าและส่งออก ธนาคารจึงมีผลิตภัณฑ์ “ttb multi-currency account” หรือ บัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงินที่ดีที่สุด โดยลูกค้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการใช้แพลตฟอร์ม เพียงแค่เสียค่าบริการโอนเงินปกติ

ซึ่งปัจจุบันสามารถรองรับการทำธุรกรรมซื้อขายได้ถึง 11 สกุลเงิน (รวมเงินบาท) และขยายไปยังสกุลเงินหยวนเพิ่มเติมรองรับปริมาณธุรกรรมการซื้อขายกับประเทศจีนที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยลูกค้าสามารถซื้อ ขาย รับ จ่าย ได้อย่างสะดวกทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังจะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากต่างประเทศทันทีเมื่อมีเงินโอนเข้า ซึ่งทำได้ครบทุกขั้นตอน แบบ end-to-end อย่างเต็มรูปแบบ ผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง

ทั้งนี้ บัญชี ttb multi-currency account มีฟีเจอร์การใช้งานที่โดดเด่นด้วยคอนเซ็ปต์ 4 One คือ 1.One Account บัญชีเดียว รองรับได้มากถึง 11 สกุลเงินหลัก รวมถึงสกุลเงินหยวน 2.One Platform เข้าถึงทุกบริการ จากทุกอุปกรณ์ ประสบการณ์เดียวกันทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเลต และสมาร์ทโฟน ทำทุกธุรกรรม ได้ทุกที่ทุกเวลา

และ 3.One to Control ระบบเดียวทำได้ทุกธุรกรรม โอนเงินได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงธุรกรรมด้านสินเชื่อ ติดตามอัตราแลกเปลี่ยนได้ตลอดเวลา พร้อมล็อกเรตอัตราแลกเปลี่ยนทันทีที่ต้องการ ค้นหารายการได้ง่ายขึ้น ด้วย Smart Search แค่พิมพ์ Key Word และติดตามสถานะของรายการได้แบบเรียลไทม์

และ 4.One to Command สรุปรายงานของทุกบัญชี ทุกสกุลเงินได้ภายในหน้าเดียว (11 สกุลเงิน) พร้อมดาวน์โหลดเอกสารได้ง่าย ๆ สะดวก ไม่ยุ่งยาก สามารถสรุปทุกวงเงินสินเชื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ ครบถ้วนในหน้าจอเดียว รวมทั้งเรียกดูข้อมูลและบัญชีของบริษัทในเครือได้ด้วย Group Company View

โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการ “ttb multi-currency account” อยู่ที่ประมาณ 400-500 บัญชี และภายในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าเพิ่มเติมอีก 400-500 บัญชี ส่งผลให้สิ้นปีนี้จะมีฐานลูกค้าใช้บริการเพิ่มเติมเป็น 800-1,000 บัญชี

“บัญชี ttb multi-currency account จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเข้าและส่งออก สามารถบริหารจัดการเรื่องสกุลเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในหลายด้าน โดยธนาคารจะยังคงมุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านการพัฒนาดิจิทัลโซลูชั่น และพร้อมเป็นพันธมิตรที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจลูกค้าในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ลูกค้าธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน”

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.9% ด้วยปัจจัยหนุนทั้งจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการส่งออกที่เติบโตดี และการทยอยฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลัง

ซึ่ง ttb analytics คาดการณ์มูลค่าส่งออกทั้งปี 2565 ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวที่ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.83 แสนล้านดอลลาร์ โดยการเติบโตจะมาจากประเทศจีน 7.7% สหรัฐ 5% และอาเซียน 2.6% เป็นต้น ขณะที่การนำเข้าก็ขยายตัวแรงเช่นกันอยู่ที่ 3.5%

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการปรับสูงขึ้นของราคาพลังงานและปัญหา Supply Disruption คาดว่าจะผ่อนคลายในช่วงครึ่งปีหลัง ประเมินอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ระดับ 1.8%

 

สำหรับตลาดเงินนั้น มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ในระดับ 0.5% เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเด็นเงินเฟ้อและการระบาดของโควิด-19 ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา คาดการณ์กรอบเป้าหมายเงินบาทในปี 2565 ที่ระดับ 33.0-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนสูงตลอดปีจากกระแสเงินทุนภายในและภายนอกประเทศ

“สัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยโลก ซึ่งนำโดยสหรัฐ แม้ว่าดอกเบี้ยไทยจะยังคงตลอดถึงสิ้นปีนี้ แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันในตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งจะสร้างความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยนได้ ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในปี 2558 ตอนนั้นเงินบาทมีความผันผวนถึง 9% ซึ่งอาจจะกระทบต่อกำไรขาดทุนของบริษัทนำเข้าและส่งออกได้ เช่นเดียวกับครั้งนี้เรายังคงได้รับแรงเหวี่ยงขึ้นลงจากค่าเงินได้”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance